การลดก๊าซเรือนกระจก

การลดก๊าซเรือนกระจก


นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีความเห็นที่ตรงกันว่า การปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์ (Anthropogenic greenhouse gas emission) ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ เป็นผลทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก (Global warming) อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก (Climate change) ซึ่งในที่สุดก็จะนำเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตในโลก ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดยังไม่อาจทราบได้แน่นอน

จากรายงานการประเมินครั้งที่ 3 ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change, Third Assessment Report)(1) ระบุว่า ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในบรรยากาศในหน่วยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คือ 378 ส่วนในล้านส่วน (Part per million, ppm.) ในขณะที่ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในยุคก่อนยุคอุตสาหกรรม (Preindustrial period, ก่อน ค.ศ. 1850) มีก๊าซเรือนกระจกอยู่ 280 ppm ผลของการที่มีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นนี้มีผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 0.6 °C
ในการประชุมเรื่อง “Avoiding Dangerous Climate Change” ณ เมือง Exeter ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 (http://www.stabilisation2005.com) ได้ข้อสรุปจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่สามารถสังเกตุการณ์ได้ในปี ค.ศ. 2004 ผลกระทบที่สำคัญที่มีต่อทุกภูมิภาคของโลก ได้แก่

-
อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 0.6 ± 0.1 °C (1,2) 
- 90%
ของธารน้ำแข็งทั่วโลกลดขนาดลง (2,3) 
-
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก 1.8 มิลลิเมตร / ปี (4) 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบเฉพาะบางส่วนของภูมิภาคของโลก เช่น การหดตัวลงของทะเลน้ำแข็งในเขตอาร์ตติค ประมาณ 15 – 20%(5)
ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นผลที่ทำให้สภาวะภูมิอากาศทั่วโลกมีความแปรปรวนมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งการเกิดปรากฏการณ์ El Nino ที่มีรอบเวลาการเกิดที่สั้นลง

สำหรับคำถามที่ว่า โลกจะร้อนมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ จากการประเมินครั้งที่ 3 ของ IPCC สรุปว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในการลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ภายใน ค.ศ. 2100 ผลที่เกิดขึ้น คือ

-
ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจะเพิ่มขึ้นจาก 378 ppm ไปเป็น 540 ถึง 970 ppm
-
อุณหภูมิผิว (Surface temperature) ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันระหว่าง 1.4 ถึง 5.8 °C
-
ระดับน้ำทะเลปานกลาง (mean sea level) อาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 9 ถึง 88 เซนติเมตร
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงกับระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล รวมทั้งผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม IPCC ยังประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 2.5C จะมีผลให้เกิดความเสียหาย 1.5 – 2.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของโลก (Global gross domestic product)

เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกขั้นอันตราย (Dangerous climate change) IPCC เสนอให้หามาตรการที่จะจำกัดระดับของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในบรรยากาศไว้ไม่เกิน 450 ppm ส่วนทางสหภาพยุโรปเสนอให้คงที่ระดับ 550 ppm ซึ่งประเมินว่า จะทำให้อุณหภูมิผิวโลกไม่สูงกว่า 2C จากยุคก่อนอุตสาหกรรม(6)

ด้วยข้อตกลงนานาชาติที่เรียกว่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งหลาย (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) ต้องลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยออกในปี ค.ศ. 1990 ผลที่ตามมา คือ กลไกต่าง ๆ ในแต่ละประเทศที่จะผลักดันให้ภาคการบริโภคพลังงานและภาคที่ก่อให้เกิดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกต้องหามาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยในการลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเกิดการผลักดันให้มีการวิจัยและพัฒนาทั้งเพื่อทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกและผลกระทบ อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะยังคงระดับความสะดวกสบายในการดำรงชีพโดยไม่ก่อให้เกิดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก
แนวทางการวิจัยและพัฒนา 
เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยอันอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก การลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่การที่จะหามาตรการรวมทั้งการกำหนดแนวทางการวิจัยและพัฒนา แต่ละประเทศจำเป็นต้องทราบที่มาของการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกซึ่งมาจากหลายแหล่ง ในการนี้ IPCC ได้จัดทำ “Revised 1996 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories” เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นคู่มือในการประเมินปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกและการรายงานต่อ IPCC ในคู่มือจะมีวิธีการในการประเมินปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเธน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ฮาร์โลคาร์บอน (HFCS,PFCS), ซัลเฟอร์เฮกสะฟลูออไรด์ (SF6) , โอโซน (Ozone) และ aerosol precursors จาก 6 แหล่งใหญ่ของการปล่อยออกก๊าซ อันได้แก่ พลังงาน (Energy), กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม (Industrial Processes), สารทำละลายและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Solvent and Other Product Use), เกษตรกรรม (Agriculture), การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ (Land – Use Change and Forestry) และขยะ (Waste) ผลจากข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตช่วยให้เกิดการติดตามปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบและมีการรายงานเป็นประจำทุกปี ตารางที่ 1 แสดงปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกในหน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าของประเทศออสเตรเลียในปี 2004 (รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2006)(7)
ตารางที่ 1 ปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของประเทศออสเตรเลีย
(เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
ค.ศ.
เปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลง
1990
2004
1990 – 2004
ปริมาณรวม
551.9
564.7
2.3
พลังงาน
1.               การใช้พลังงานประจำที่ (Stationary Energy)
2.               การขนส่ง
3.               Fugitive Emission
287.5
195.7
61.7
30.0
387.2
279.9
76.2
31.0
34.7
43.0
23.4
3.4
กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม
25.3
29.8
18.0
เกษตรกรรม
91.1
93.1
2.2
การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้
128.9
35.5
-72.5
ขยะ
19.2
19.1
-0.7
สำหรับสหรัฐอเมริกา จะมีระบบการประเมินปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ดังแสดงผลการประเมินในภาคผนวก(8) 

จากปริมาณการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะพบว่า การปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากการบริโภคพลังงานในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิง ฟอสซิล (Fossil fuel) ซึ่งโดยประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คิดเป็น 80% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ

โดยที่การปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกเป็นผลจากการบริโภคพลังงานโดยผ่านการใช้เทคโนโลยี แนวทางการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีจึงมุ่งเน้นในเรื่องของการบริโภคพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) และการบริโภคพลังงานที่มีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกน้อยหรือไม่มี แต่โดยที่การวิจัยและพัฒนาต้องมีค่าใช้จ่าย จึงต้องพิจารณาว่าควรจะมีการลงทุนในเรื่องใดบ้าง จึงจะทำให้การลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด
การพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน 
แม้ว่าการสันดาปเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นสาเหตุใหญ่ในการทำให้เกิดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก แต่การนำเชื้อเพลิงประเภทอื่นมาใช้แทนยังจะเป็นไปไม่ได้ง่ายนัก ดังนั้นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริโภคพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้พลังงานโดยบริโภคพลังงานน้อยลง กล่าวคือ มีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่สูงขึ้น 

รูปที่ 1 แสดงสายโซ่พลังงาน (Energy Chain) เมื่อพิจารณาจากความต่อเนื่องดังกล่าว การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับขั้นตอน
- การเปลี่ยน / แปรรูปพลังงาน
- การขนส่ง / ส่งผ่านพลังงาน 
- การใช้พลังงาน
รูปที่ 1 สายโซ่พลังงาน
http://www.technologymedia.co.th/article_image/w1.gif
เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ

เช่น การผลิตไฟฟ้า การกลั่นน้ำมัน

เช่น การใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าการขนส่งน้ำมัน

เช่น อุตสาหกรรม ธุรกิจ การขนส่ง
และผู้ใช้ต้องการพลังงาน
1.การเปลี่ยน / แปรรูปพลังงาน (Energy Conversion)
แหล่งใหญ่ของการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกในการเปลี่ยน / แปรรูปพลังงานมาจากการเปลี่ยนพลังงานปฐมภูมิให้เป็นพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเปลี่ยนรูปจะช่วยในการลดการปล่อยออกก๊าซ

ระบบผลิตไฟฟ้าที่มีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพที่สุดขณะนี้ คือ ระบบกังหันก๊าซความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural gas combined cycle gas turbines) ซึ่งเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมจะมีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเกือบครึ่ง นั่นคือ โดยประมาณโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยออกที่ 850 g/kWh ส่วนโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมจะปล่อยออกประมาณ 500 g/kWh (9) ดังนั้นสำหรับประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ซึ่งการผลิตไฟฟ้ากว่า 50% มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงมีการวิจัยพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าโดยมีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เทคโนโลยีที่มีการดำเนินการ เช่น

- โครงการเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology Program)
- โครงการความร้อนร่วมไฟฟ้า (Combined Heat and Power)
เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 
ภายใต้โครงการเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เทคโนโลยีหลักที่มีการวิจัยพัฒนา ได้แก่ เทคโนโลยีการเปลี่ยนให้เป็นก๊าซ (Gasification Technology) และเทคโนโลยีกังหัน (Turbine Technology) สำหรับเทคโนโลยีการเปลี่ยนเป็นก๊าซ เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยไฮโดรคาร์บอนให้เป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนโมนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen) และผลพลอยได้ (Byproduct) ที่เป็นสารเคมีประเภทต่าง ๆ แล้วแต่องค์ประกอบของถ่านหิน หลังจากกำจัดละอองฝุ่นผงของถ่านหินและสารเคมีออก จะได้ก๊าซสังเคราะห์ (Synthesis gas) ที่เรียกว่า Syngas ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์และไฮโดรเจน ประมาณ 85% ส่วนที่เหลือจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเธน

Syngas ที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยผ่านระบบกังหันก๊าซความร้อนร่วม ซึ่งประกอบด้วยระบบกังหันก๊าซประสิทธิภาพสูง ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วใช้ความร้อนเหลือใช้ (Exhaust heat) จากกังหันก๊าซไปผลิตไอน้ำเพื่อผ่านเข้ากังหันไอน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การใช้ Syngas ในการผลิตกระแสไฟฟ้านี้จะยังคงมีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจึงต้องมีระบบการจำกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

โดยที่ในการผลิต Syngas ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์กับไฮโดรเจน ในส่วนของก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ เมื่อใช้งานเสร็จจะรวมกับออกซิเจนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องการการกำจัด ส่วนก๊าซไฮโดรเจนซึ่งไม่มีผลต่อการเกิดภาวะเรือนกระจกและสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในด้านต่าง ๆ ได้ จึงมีความสนใจที่จะผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากถ่านหิน แล้วใช้ก๊าซไฮโดรเจนในการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมทั้งเมื่อมีเหลือก็จะสามารถนำไปใช้ในงานอื่น เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ทำให้ในขณะนี้ได้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการใช้งานก๊าซไฮโดรเจนเป็นงานหลักหนึ่งในด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานในสหรัฐอเมริกา

เพื่อให้สามารถวิจัยและพัฒนาแนวคิดที่จะนำไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินโดยไม่มีการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีประกาศการลงทุนในโครงการ “Future Gen. Co- Production” ซึ่งจะเป็นโครงการ 10 ปีในวงเงิน 950 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 275 เมกกะวัตต์ ที่มีการจับตรึง (Sequestration) 90% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการวิจัยและพัฒนาจะประกอบด้วยงานห้าด้าน คือ เทคโนโลยีด้านระบบผลิตก๊าซ (Gasification system technology), การผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากถ่านหิน, กังหันก๊าซไฮโดรเจน, การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell), และการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และตรึงไว้ในที่เก็บ (Storage) แบบต่าง ๆ รูปที่ 2 แสดงไดอะแกรมอย่างง่ายของโครงการ Future Gen (10)